domingo, agosto 07, 2022

เซ็ปปุกุ

 เซ็ปปุกุ

เซ็ปปุกุ

**ศึกษาเป็นความรู้ อย่าเอาไปใช้งานนะครับ**

(คำเตือน บทความต่อไปนี้มีเนื้อหาความรุนแรง ภาพประกอบไม่ได้มาจากเหตุการณ์จริง)
“เซ็ปปุกุ” หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในอีกชื่อว่า”ฮาราคีรี” (“ฮาราคีรี”จะมีความหมายไปในทางดูถูกเหยียดหยาม หลังจากนี้บทความจะแทนที่คำดังกล่าวว่า”เซ็ปปุกุ”แทน) อันหมายความถึงการคว้านท้องตัวเองด้วยดาบสั้นจนกระทั่งตัวตาย ส่วนการกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการคว้านท้องตัวเองซึ่งเรียกว่า “เซ็ปปุกุ” นี้ จะกระทำในสถานการณ์ต่างๆ อันมีอยู่สี่อย่างด้วยกันคือ
การกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงความอับอายที่ไม่อาจทนได้ เช่น ในกรณีที่เห็นว่าตนเองกำลังจะพ่ายแพ้การศึกต่อฝ่ายศัตรูก็จะทำการเซ็ปปุกุ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับเป็นเชลย อันเป็นความอัปยศสุงสุดของซามูไร
ส่วนในกรณีที่ผู้เป็นหัวหน้าของตนต้องตายเพราะการศึก ซามูไรผู้เป็นลูกน้องสำคัญก็จะทำการเซ็ปปุกุ เพื่อตายตามหัวหน้า ซึ่งการเซ็ปปุกุในลักษณะนี้เรียกว่า “จุนชิ”
หรือในกรณีที่กระทำความผิดอันขัดต่อคุณธรรมของซามูไร ซามูไรผู้นั้นจะกระทำการเซ็ปปุกุเพื่อลบล้างความผิดทางจิตใจของเขาเอง
การเซ็ปปุกุชนิดสุดท้ายเกิดจากคำสั่งของผู้มีอำนาจในแผ่นดินให้ซามูไรคนหนึ่งทำการฆ่าตัวตายด้วยวิธีการเซ็ปปุกุ ในกรณีที่ซามูไรคนนั้นกระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองหรือปฎิบัติการณ์ใดๆ อันไม่เป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจนั้นๆ
อย่างไรก็ดีขอให้เข้าใจว่าการ “เซ็ปปุกุ” เป็นการฆ่าตัวตายที่สงวนไว้สำหรับพวกนักรบซามูไรเท่านั้น ส่วนบุคคลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า ชาวนา หรือแม้กระทั่งพวกขุนนางเอง จะฆ่าตัวตายโดยวิธี เซ็ปปุกุ ไม่ได้
“ไคชากุ” หมายถึงการเฝ้าคอยช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือให้ซามูไรพ้นจากการทนทุกข์ทรมานหลังจากได้ทำการ “เซ็ปปุกุ” เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะว่าคนเราแม้ว่าจะได้คว้านท้องตนเองจนลำไส้ไหลทะลักออกมากองบนพื้นเสื่อ แต่ก็ยังหาได้ตายอย่างง่ายๆในเวลาอันสั้นไม่ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของไคชาคุนินที่จะช่วยปลดเปลื้องความเจ็บปวดของซามูไรโดยการฟันคอให้ขาดกระเด็นทันทีที่พิธีสิ้นสุดลง
ในปี ค.ศ. 1868 นายเอบีมิทฟอร์ด ชาวอังกฤษ เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมเป็นประจักษ์พยานในการกระทำเซ็ปปุกุ ของซามูไรญี่ปุ่น ชื่อ ทากิ เซ็นซาบุโร่ การกระทำเซ็ปปุกุของเขาในครั้งนั้นเกิดจากคำตัดสินของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ถือว่า เซ็นซาบุโร่มีความผิดในการสั่งให้ทหารภายใต้การควบคุมของเขายิงชาวต่างชาติในเมืองโกเบ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นและชาวต่างชาติกลุ่มนั้นกำลังทำการตกลงในการทำสัญญาไมตรีกันอยู่ ซึ่งการปฎิบัติของเซ็นซาบุโร่เป็นการขัดคำสั่งของรัฐบาลและมีความผิดถึงขั้นประหารโดยให้ทำการเซ็ปปุกุ อย่างชาตินักรบ
การกระทำ “เซ็ปปุกุ” ของเซ็นซาบุโร่ปฎิบัติในตอนกลางคืนที่วิหารแห่งหนึ่งใกล้ๆกับเมืองโกเบ ซึ่งเอบีมิทฟอร์ด ได้บันทึกเหตุการณ์ในคืนนั้นไว้ว่า
“ซามูไร เซ็นซาบุโร่ ได้นั่งคุกเข่าอยู่บนเสื่อในวิหารใหญ่ เมื่อได้เวลาทำการเซ็ปปุกุ เขาหยิบดาบสั้นขึ้นมาจากถาดที่วางอยู่เบื้องหน้าแล้วเพ่งมองดาบเล่มนั้น คล้ายกับจะดูเป็นครั้งสุดท้ายว่า ต่อไปเขาจะไม่ได้นำมันติดตัวไปไหนมาไหนอีกแล้ว เขานั่งเงียบสงบอยู่ครู่หนึ่งเพื่อรวบรวมสมาธิเป็นครั้งสุดท้ายแล้วจึงใช้ดาบสั้นแทงชายโครงทางด้านซ้ายตรงกลางช่วงท้องลึกลงไปประมาณ 6 นิ้ว จากนั้นก็ลากคมมีดกรีดท้องมาทางชายโครงด้านขวาอย่างช้าๆ จนหน้าท้องเปิดเป็นแผลยาวลำไส้ไหลทะลักออกมา แต่เขาก็ยังไม่ได้หยุดยั้งเพียงแค่นั้น เขาดึงดาบสั้นออกมาแทงลงตรงตอนบนของหน้าท้องแล้วค่อยๆกรีดลงสู่เบื้องล่างเป็นรูปกากบาท ตลอดเวลาแห่งความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสนั้น ใบหน้าของเขามิได้แสดงความเจ็บปวดออกมาแม้แต่น้อย เมื่อเขาดึงดาบสั้นออกมาจากท้องอีกครั้งหนึ่ง ตัวเขาเอนไปข้างหน้าขณะเดียวกันก็ยื่นลำคอออกไป…
ในช่วงนั้นเองไคชากุนิน ผู้ช่วยการกระทำเซ็ปปุกุ ที่จับตามองอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นทางเบื้องหลังด้านซ้ายของเขา ได้ลุกขึ้นจากท่าคุกเข่าเงื้อดาบยาวขาววับขึ้นกลางอากาศ แล้วฟันลงอย่างรวดเร้ว จนศีรษะของเซ็นซาบุโร่ขาดหลุดออกจากบ่าทันที”
สำหรับการกระทำเซ็ปปุกุ ของเซ็นซาบุโร่ในครั้งนั้นนับว่าเป็นการเซ็ปปุกุที่คลาสสิคครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเซ็ปปุกุของซามูไร เพราะตลอดเวลาที่เขากรีดมีดดาบเปิดแผลหน้าท้องออกมาช้าๆนั้น กล้ามเนื้อบนใบหน้ามิได้กระตุกแสดงให้เห็นริ้วรอยของความเจ็บปวดได้เลย ซึ่งกล่าวได้ว่าเซ็นซาบุโร่ เป็นคนมีจิตใจเข้มแข็งจริงๆ เพราะการควบคุมอดกลั้นความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสไม่ให้ปรากฎออกมาบนใบหน้านั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากจริงๆ
ดูเหมือนว่าซามูไรทุกคนถือว่าความตายเป็นเรื่องเล็กน้อยมากสำหรับพวกเขา ส่วนเกียรติยศและชื่อเสียงต่างหากที่ซามูไรถือว่ามีค่าและมีความสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด การตายเป็นสิ่งที่ “เบาบางยิ่งกว่าขนนก”เสียอีก และใครก็ตามที่ตายด้วยการ”เซ็ปปุกุ” ถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างสูงที่ลูกหลานภายหน้าจะมีความภาคภูมิใจ
บทความจากหนังสือ ซามูไร ชนชั้นนักรบของญี่ปุ่น (2530)

No hay comentarios.: